ฮิการิโมโยโมโน ( Hikarimoyomono ) ปลาคาร์พที่นำมาเสนอในคราวนี้มีชื่อว่า “ฮิการิโมโยโมโน” เป็นปลาประเภทที่สองในกลุ่มฮิการิโมโน ซึ่งมีทั้งหมดอยู่สามประเภทด้วยกัน ชื่อของมันเหมือนกับฮิการิมูจิโมโนที่แนะนำไปแล้ว ครานี้เพียงแต่เปลี่ยนจากคำว่า “มูจิ”เป็น“โมโย”นอกนั้นเหมือนกัน “ฮิการิ”กับ”โมโน”รู้แล้วว่าหมายถึงอะไร ขออธิบายคำว่า “โมโย” แค่คำเดียวก็แล้วกัน คำนี้มีหลายความหมายนะครับ แต่ถ้าใช้กับปลาคาร์พหมายถึงแพทเทินส์ลวดลายที่ปรากฏ ดังนั้นฮิการิโมโยโมโนจึงเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับฮิการิมูจิโมโนฮิการิมูจิโมโนหมายถึงปลาคาร์พสีเดียวทั้งตัว มีผิวมันเงาแวววาว เมื่อรู้จักความหมายของชื่อฮิการิมูจิก็ทำให้ทราบโดยอัตโนมัติว่า ฮิการิโมโยโมโนต้องเป็นปลาคาร์พผิวมันเงาที่มีสองสีขึ้นไปอย่างแน่นอนคาดคะเนเอาจากความคิดผมเอง เชื่อว่าฮิการิโมโยเป็นปลาที่ได้รับความนิยมเบียดเสียดคู่คี่ดู๋ดี๋ กับฮิการิมูจิแบบกินกันไม่ลง สังเกตเอาจากบ่อเลี้ยงแทบทุกบ่อที่เคยไปเยี่ยมเยือน บ่อไหนถ้ามีมูจิก็จะมีโมโยแหวกว่ายตีคู่เคียงข้างเสียทุกบ่อไป ความนิยมของนักเลี้ยงปลาคาร์พบ้านเราที่มีให้กับปลาผิวเงา ไม่น้อยไปกว่าปลายอดนิยมโคฮากุ,ซันเก้,โชว่า,อูจึริ เลยนะครับความมันเงาของปลาฮิการิ เป็นอะไรที่เรียกร้องความสนใจจากมือใหม่หัดขับได้อย่างชะงัด อย่างเราๆท่านๆ ที่เลี้ยงปลามานานอาจรู้สึกเฉยๆ แต่กับมือใหม่ซึ่งก่อนหน้าคุ้นเคย กับช่อนแป๊ะซะ ปลาดุกย่าง ปลาหมอฉู่ฉี่ ที่พูดมาล้วนแต่ผิวดำปี๋ไม่มีความน่าพิศมัย พอมาเจอปลาที่ผิวมันสะท้อนแสบตาอย่างนี้ คงไม่แปลกหรอกครับที่จะร้องอุทาน โอพระเจ้า..จอร์จ มันเยี่ยมอะไรอย่างนี้ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าหากมีใครเอาโอกอนหรือไม่ก็แพลตินั่มสักตัว ไปปล่อยในบ่อในบึงแถวบ้านนอก เอาไม่ใกล้ไม่ไกลแถวๆ ชลบุรีบ้านผมก็ได้ วันดีคืนดีมีใครไปเหวี่ยงแหติดขึ้นมา ร้อยเอาสิบ.. ไม่ใช่ดูถูกภูมิปัญญาคนไทย งานนี้มีจุดธูปขอหวย ดีไม่ดีเจ้าปลาซวยมีสิทธิโดนขูดเกล็ดถลอกปอกเปิงหาตัวเลข คิดแล้วเสียวแทนวุ๊ยส์! ทางด้านฝรั่งมังค่าผู้เจริญแล้วก็ใช่ย่อย ความนิยมชมชอบในปลาเงาไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากะเหรี่ยงไทยอาจจะแซงหน้าเสียด้วยซ้ำไปจากสถิติจากที่ทราบมาจากฟาร์มปลาที่ญี่ปุ่น ฝรั่งมั่งค่านี่แหละที่ออเดอร์ปลาผิวมันไปขายมากที่สุด คาดว่าป่านนี้ปลาฮิการิโมโนคงไปว่ายส่องแสงแสบตา ครึ่งค่อนทวีปยุโรปแล้วกระมัง ที่พล่ามมาทั้งหมดนี่เพียงแค่จะยืนยันว่าฮิการิโมโย เป็นปลาที่สวยงามได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงไม่น้อยไปกว่าปลาหลักครับชนิดย่อยของฮิการิโมโยโมโนไม่พูดพล่ามทำเพลง บรรเลงกันเลยครับ แต่ขอเล่าสู่กันฟังกับย่อยชนิดที่เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันโดยทั่วไป ที่นอกเหนือจากที่นำมาเสนอในวันนี้ ผมว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ ไม่เห็นมีใครพูดถึงกันสักเท่าไร บางชนิดเคยได้ได้ยินแต่ชื่อ เคยเห็นแต่ในรูปภาพ แถมยังเป็นภาพวาดเสียด้วยซ้ำ ตัวตนจริงมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กับชนิดแรกนี้ ขอบอกว่าเด็ดสะระตี่ ถ้าพูดถึงฮิการิโมโย แล้วไม่พูดถึงมัน คงต้องเอาหัวไปโขกต้นมะพร้าวตายเชียวล่ะครับคุจากุ เขาผู้นี้ล่ะครับพระเอกของท้องเรื่อง ขวัญใจแม่ยกตลอดกาล เป็นปลาที่ทำให้ฮิการิโมโยเชิดหยิ่งใส่โกซันเก้ ได้อย่างลอยหน้าลอยตา เป็นปลาที่ใครๆ ก็ไม่อยากพลาดที่จะมีไว้ประดับบ่อ ความสวยงามไม่เป็นสองรองใครทั้งสิ้น นี่พูดจริงตามเนื้อผ้า ไม่ใช่พูดเอออ..ห่อหมกเอาเอง สาบานได้คุจากุ แปลว่านกยูง ฟังจากชื่อก็กินขาดแล้วครับท่าน และก็ไม่ใช่นกยูงธรรมดาเสียด้วย ต้องเติมทองต่อท้ายด้วยครับ นกยูงทองถึงจะเหมาะสมกับความงามของมัน เป็นไงครับฟังชื่ออย่างเดียวก็ต้องรู้เองแล้วว่าไม่ธรรมดา ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ขอบอก ถ้าไม่เจ๋งจริงมีหรือที่จะได้ฉายานกยูงทอง คุจากุเป็นปลาฮิการิที่มีสีพื้นเป็นสีเทาเงินหรือสีตะกั่วมันเงา ไม่ใช่สีทองคำขาวแบบแพลตทินั่ม บางท่านเรียกว่าสีเงินแต่ผมว่าพูดให้นึกภาพออกเสมือนจริง สีเทาสีตะกั่วดูจะใกล้เคียงกว่า แต่อาจจะฟังแล้วไม่เพราะเท่าสีเงิน ไม่เป็นไรอย่าไปใส่ใจมันมาก รู้แต่ว่าสีพื้นของมันสวยงามมากเท่านั้นพอประกอบกับที่มันมีฮิแพทเทิร์นเช่นเดียวกับโคฮากุ มันก็เลยยิ่งสวยสะเด็ดยาดไปใหญ่ แบบว่ากู่ไม่กลับแล้วงานนี้ อ้อ..อย่าลืมนะครับถึงแม้จะไม่ได้พูดก็ต้องรู้เองนะครับ ว่ามันต้องมีเกล็ดฟูกุรินตามแบบฉบับของฮิการิโมโย นักเลี้ยงญี่ปุ่นเปรียบเทียบไว้ว่าฟูกุรินของยามาบูกิโอกอนเปรียบประดุจทองคำ ฟูกุรินของแพลตทินั่มเปรียบประดุจทองคำขาว ฟูกุรินของคุจากุเปรียบประดุจดังสีของเงิน เปรียบเทียบกับของมีแพงทั้งนั้น ตอนนี้ทองตกบาทละหมื่น ใจยังนึกว่าช่วงไหนใส้แห้ง จะลองอุ้มโอกอนไปโรงจำนำดูสักที คงเปลี่ยนเป็นเงินได้โขอยู่ ถ้าไม่โดนเฮียถีบกระเด็นเสียก่อนนะด้วยว่าสีพื้นของคุจากุมีความมันเงา จึงพาให้ลวดลายสีแดงมีความโดดเด่นสะดุดตาไปด้วยเป็นสีแดงที่สวยมากๆ บางคนเปรียบเปรยสีแดงของคุจากุไว้อย่างน่าฟังว่า แดงประดุจดังสีของทับทิม ฟังดูแล้วเว่อร์เกินไปเปล่าเนี่ย.. เปรียบเทียบอย่างนี้เหมือนจงใจเกทับสีทองคำของโอกอนกับทองคำขาวของแพลตทินั่ม นี่ว่าถึงตัวที่มีสีแดงจัดจริงๆ ซึ่งก็หายากพอควร ส่วนใหญ่จะพบเห็นที่เป็นสีแดงอมส้มเสียเยอะจำได้ว่าสมัยก่อนคุจากุที่ไม่มีสีแดงปกคลุมที่บริเวณหัว จะเป็นที่นิยมของนักเลี้ยง คงต้องการเน้นความเงางามของสีพื้นแบบเน้นๆเนื้อๆ ไม่เจือไขมัน ก็ดูดีนะครับเวลาที่มันว่ายขึ้นมากินอาหาร สีเทาเงินที่หัวดูโดดเด่นชัดเจนตื่นตาน่ามองดีโผล่หัวขึ้นมาฮุบอาหารแต่ละครั้งนาทีนั้นโคฮากุยังต้องชิดซ้ายตกขอบเวที แต่แฟชั่นปัจจุบันเปลี่ยนไป หันมานิยมที่ตรงกันข้ามต้องมีแพทเทินส์แดงที่หัวถึงจะจ๊าบ ให้ดูเหมือนกับโคฮากุแพทเทินส์ กับโชว่า,ซันเก้ก็เหมือนกันจะเน้นอิงกับโคฮากุเข้าว่า หน้าต้องมีสีแดงไว้ก่อน คุจากุที่ไม่มีสีแดงที่หน้าจึงถูกมองว่าเป็นปลาหัวล้านไปซะฉิบ อันนี้ก็ว่ากันไปตามแฟชั่นแต่ละยุคสมัยอ่ะนะ..คุจากุถือกำเนิดในราวๆ ปี 1960 เกิดหลังฮิการิมูจิอยู่หลายปีทีเดียว ต้นกำเนิดของคุจากุก็มาจากฮิการิมูจิครับ ในบันทึกได้กล่าวไว้ว่าผู้ที่ทำการเพาะพันธุ์คุจากุได้เป็นคนแรกคือนายโคจิโอะ อิราซาว่า แห่งมินะมินิโกโระ,โอจิยะ โดยจุดประสงค์แรกเริ่มนายโคชิโอะต้องการพัฒนาพันธุ์โอกอนจากเดิมที่มีสีเดียว ให้มีลวดลายหลากสี ก็เลยนำเอาโฮกอนยืนพื้นแล้วนำปลาอื่นอย่างอาซากิ,ซูซุย มาผสม ลองผิดลองถูกอยู่นานมาสัมฤิทธิ์ผลเอากับมัตจึบะโอกอนจับคู่กับซูซุยสันนิฐานว่าที่เห็นสีดำปรากฏอยู่ในคุจากุเสมอ คงมาจากพัธุกรรมของมัตจึบะนี่เอง (มัตจึบะคือโอกอนที่มีสีดำเหลื่อมอยู่ในเกล็ด) ในยุคแรกที่เพาะได้นั้นก็มีคุจากุที่เป็นปลาด๊อยส์ออกมาด้วยเป็นลักษณะที่ได้มาจากซูซุย นายโคชิโอะได้ตั้งชื่อปลาที่เขาผลิตได้ว่าคุจากุ อันมีความหมายว่านกยูงอย่างที่บอกว่าคุจากุเป็นปลาที่มีเกล็ดแบบฟูกุริน ถอดแบบมาจากโอกอน และส่วนหนึ่งก็เป็นปลาด๊อยส์ที่ได้รับพันธุกรรมมาจากซูซุย แต่ที่นิยมเป็นที่รู้จักของนักเลี้ยงทั่วไปเป็นปลาฟูกุรินครับ ปลาด๊อยส์แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงเลย คุจากุที่เป็นฟูกุรินเป็นปลาที่ได้รับการพัฒนาสายพัฒนาสายพันธุ์ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนเนื่องจากได้รับความนิยมจากนักเลี้ยงเป็นอย่างสูง ปัจจุบันเปรียบเทียบกันแล้วจะพบเห็นคุจากุธรรมดามีโครงสร้างดีกว่าปลาด๊อยส์ ปลาด๊อยส์ที่พบเห็นเป็นปลาที่ผลิตอกมาแต่ส่วนน้อย ในการเพาะพันธุ์แต่ละครั้งในชุดพ่อแม่พันธุ์จะใส่ปลาด๊อยส์ลงไปด้วย แต่ที่หวังผลจริงก็ยังเป็นปลาฟูกุรินฮาริวาเก้ อีกหนึ่งดาวเด่นที่มีชื่อเสียงของฮิการิโมโย ครั้งหนึ่งเจ้านี่เคยเป็นปลาตัวโปรดของผม จำได้ว่าหมดเงินกับมันไปมากพอสมควรทีเดียว ซื้อๆ เปลี่ยนๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ดีสักตัว มันเป็นปลาที่สวยมากนะ แต่ไม่ค่อยมีคนเลี้ยง อ่ะ..พูดไงวะ ขึ้นต้นวะดูดีแต่ปิดท้ายบอกว่าไม่ค่อยมีคนเลี้ยง ฟังแล้วแหม่งๆ หูชอบกล ตกลงมันสวยหรือไม่สวยกันแน่ สวยครับสวย แต่แบบว่าออกจะเป็นปลาหายากสักหน่อยหมายถึงที่สวยจริงๆ จะหาได้ยากกว่าคุจากุ ที่ไม่สวยหรือสวยระดับพอดูได้แบบทั่วไปไม่ยากที่จะหาทำยา สมัยก่อนในบ้านเราเพาะออกมาขายเยอะแยะเลย ที่จตุจักพอเห็นได้ทุกอาทิตย์ แต่ปัจจุบันหาได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่าไม่รู้ ระยะหลังมาคลุกคลีกับปลานอกตามฟาร์ม เลยไม่ได้ย่างกรายไปสำรวจตลาดจตุจักรสักเท่าไหร่เพิ่งนึกได้ว่ายังไม่ได้บอกมือใหม่หัดขับเลยว่า ลักษณะพื้นฐานของฮาริวาเก้เป็นยังไง มันเป็นปลาที่มีพื้นสีขาวแพทเทินส์สีเหลือง ลองนึกภาพโคฮากุที่มีฮแพทเทินส์เป็นสีเหลืองก็แล้วกัน ยังไงยังงั้นเลยทีเดียวเชียวแต่กรุณาอย่าไปเหมารวมเอากับโคฮากุที่มีสีซีซีดจาง จนดูเหมือนเป็นสีเหลืองนะครับ มันคนละเรื่องเดียวกัน อาจเป็นด้วยว่าปลาคาร์พเกือบทั้งหมดมักจะมีสีแดง นานเข้าเลยเห็นเป็นของปรกติชินตาพอมีแปลกแหวกแนวเป็นสีเหลืองขึ้นมา ก็เลยทำให้มันดูเด่นดูสวยมีคุณค่าขึ้นมาโดยอัตโนมัติก็ได้ชื่อฮาริวาเก้อาจจะไม่ค่อยได้ยินบ่อย ไม่คุ้นหูเหมือนชื่อปลาอื่นๆ เป็นเพราะว่าถ้าเป็นปลาที่สวยจริงๆ จะหายาก ยากกว่าโคฮากุ,โชว่า,ซันเก้ นักเลี้ยงก็เลยไม่ค่อยพูดถึงมัน ผลิตออกมาขายก็น้อยที่พูดมาก็ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่มันไม่ได้รับการตอบรับจากนักเลี้ยงเท่าไรนัก ผู้สันทัดกรณีได้ให้เหตุผลถึงสาเหตุอีกประการหนึ่งไว้อย่างน่าคิด ว่าไม่ใช่ว่าไม่มีใครชอบหรือว่ามันไม่สวย แต่ที่ให้ความสนใจน้อยหรือถึงกับไม่อยากเลี้ยงเพราะว่ามันเลี้ยงยาก ผู้สันทัดกรณีคนเดิม (คนไหนก็ไม่รู้ ผมยกเอามาอ้างเรื่อยเปื่อย) ยังลงความเห็นแบบฟันธงว่าการเลี้ยงฮาริวาเก้ให้ได้ดีไม่ใช่เรื่องขี้ไก่นะจ๊ะ ขอบอก..ฟังจากนักเลี้ยงผู้มีประสบการณ์โดยตรงในการเลี้ยงฮาริวาเก้รวมทั้งผมเองด้วย มีความเห็นเดียวกันเลยว่า จะเลี้ยงให้ดีให้สีเหลืองอ๋อย ต้องแสงสว่างเพียงพอเลี้ยงกลางแจ้งได้ยิ่งเจ๋ง ฮาริวาเก้ไม่ใช่แด๊กคิวร่าที่ไม่ชอบแสงแดด ถ้าเลี้ยงในที่แสงน้อยแดดส่องไม่ถึงมืดสลัว สีถอดสถานเดียวอีกอย่างเป็นปลาใจเสาะเสียด้วยนะ เจอสภาพน้ำที่ไม่ถูกอกถูกใจพลอยแต่จะถอดสีเอาเสียดื้อๆ เขาว่ากันอีกเหมือนกันว่ามันเป็นปลาขวัญอ่อนถ้าเกิดตกอกตกใจกระทันหัน จากเหลืองอ๋อยจะกลายเป็นเหลืองซีดเหมือนเป็นดีซ่านโดยอัตโนมัติ จริงหรือไม่จริงไม่รู้เหมือนกันไม่มีประสบการณ์ แต่ที่แน่ๆ รู้แต่เพียงว่าฮาริวาเก้สีต้องเหลืองจัดถึงจะสวย ถ้าสีถอดซีดสีจางบอกได้คำเดียวว่าเห็นแล้วเซ็งโคตร สีเหลืองจัดเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับฮาริวาเก้อย่างที่สุด ด้วยว่าเป็นปลาพื้นขาวแพทเทินส์เหลือง ซึ่งธรรมชาติของสีขาวกับสีเหลืองเป็นสีที่ไม่ได้ตัดกันชัดเจนนัก ถ้าเป็นสีขาวกับสีแดงของโคฮากุจะดูตัดกันโดดเด่นกว่า สรุปถ้าฮาริวาเก้ถ้าไม่เหลืองอ๋อยแล้วไซร้ จบเห่สถานเดียวและถ้าพูดถึงฮาริวาเก้ก็ต้องพูดถึงฮาริวาเก้ที่เป็นปลาด๊อยส์ เป็นอะไรที่เข้ากันดีดั่งกิ่งทองใบหยก ห่อหมกใบยอ ตรงกันข้ามกับคุจากุนะครับ คุจากุจะนิยมปลาเกล็ดธรรมดามากกว่า ฮาริวาเก้ที่เป็นปลาเกล็ดธรรมดาไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมนัก แทบจะไม่มีใครพูดถึงเลยก็ว่าได้ มีบางครั้งที่พูดออกไปคนฟัง งง! มีด้วยเหรอ! ไม่ยักกะรู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ นะเนี่ย ว่าไปนั่น.. สรุปว่าถ้าพูดถึงฮาริวาเก้ก็ต้องพูดถึงปลาด๊อยส์สถานเดียวฮาริวาเก้ที่ดีควรอยู่ในรูปแบบโคฮากุแพทเทิร์น ถ้ามันมีลวดลายแบบโคฮากุรับรองว่ามันสวยแน่ แต่มันจะมีอย่างที่ว่าสักกี่มากน้อย ที่เจอส่วนมากลายขาดๆ เกินๆ จะเอาสวยแบบโคฮากุ อาจต้องใช้เวลาหากันหนวดหงอกล่ะจ้ะกว่าจะเจอสักตัวยาโมโตะนิชิกิ ชื่อฟังดูแปลกแท้ที่จริงแล้วซันเก้นี่เอง พอมีผิวมันเงาขึ้นมาหน่อยชื่อยาวร่วมกิโล ยาโมโตะนิชิกิมีทั้งที่เป็นปลาเกล็ดและปลาด๊อยส์ บางท่านเรียกซันเก้ที่มีผิวมันเงาที่เป็นปลาเกล็ดว่า แพลตทินั่มซันเก้ ฟังแล้วเห็นภาพชัดเจนเลยครับ และเรียกที่เป็นปลาด๊อยส์ว่าฮิคาริซันเก้ ฟังแล้วก็ไม่ต้องบรรยายภาพอีกเช่นกัน นักเลี้ยงบ้านเราเรียกทั้งแบบด๊อยส์แบบเกล็ดเหมารวมหมดว่ายาโมโตะนิชิกิ ไม่มีการแบ่งแยก และก็จะเรียกสั้นๆว่ายาโมโตะเฉยๆ ด้วยอีกต่างหาก เปรียบคู่มวยระหว่างยาโมโตะกับฮาริวาเก้ ฮาริวาเก้ชื่อเสียงเรียงนามน่าจะคุ้นหูคุ้นตาคนไทยมากกว่านิดนึง ฮาริวาเก้สวยก็ว่าหาได้ไม่ง่ายแล้วนะ ยาโมโตะสวยๆโครงสร้างดีๆ กับหายากยิ่งกว่าและถ้านำไปเปรียบเทียบกับคุจากุเจ้าตำรับแห่งฮิการิโมโย ทั้งยาโมโตะและฮาริวาเก้จะหาได้ยากกว่าครับเท่าที่ทราบข้อมูลจากเซียนยุ่น ฟาร์มใหญ่จะไม่นิยมผลิตส่วนใหญ่จะเป็นปลาจากแถบนิกาตะคิคูซุย โม้ไปโม้มาเกือบลืมเจ้านี่เข้าให้แล้วไหมล่ะ ถ้าไม่พูดถึงมันต้องบอกว่าพระเอกตกม้าตายตอนจบที่จริงต้องพูดถึงมันเป็นอันดับสองรองจากคุจากุเสียด้วยซ้ำ ถ้าเรียงลำดับตามความสำคัญในฮิการิโมโย ต้องยกให้คุจากุเป็นพระเอก ส่วนตำแหน่งนางเอกก็ต้องให้คิคูซุยนี่แหละ ยาโมโตะกับฮาริวาเก้เป็นตัวประกอบคิคูซุย ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงดอกไม้ชนิดหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชนิดเดียวกับดอกเบญจมาศบ้านเราหรือเปล่า รูปปแบบของคิคูซุยไม่มีอะไรเลยจริงๆ ครับท่านผู้ชม โคฮากุขาวแดงดีๆ นี่เอง แต่มีผิวเป็นมันเงาในรูปแบบของปลากลุ่มฮิการิ และก็เหมือนกับยาโมโตะและฮาริวาเก้ โคฮากุในกลุ่มฮิการิมีทั้งที่เป็นด๊อยส์และเกล็ดที่เป็นปลาด๊อยส์มีชื่อเต็มยศจริงๆ ว่า แพลตทินั่ม-โคฮากุ-ด๊อยส์ ซึ่งก็คือคิคูซุยที่เรากำลังพูดถึงนี่แหละครับ ดีแล้วที่เรียกสั้นๆ ว่าคิคูซุย ถ้าให้เรียกเต็มยศคงไม่ไหว แบบที่เป็นเกล็ดธรรมดามีชื่อเรียกว่า แพลตทินั่ม-โคฮากุ แต่เราจะไม่พูดถึงมันข้ามมันไปเลยครับ นักเลี้ยงให้ความสำคัญกับมันน้อยมากแทบจะไม่มีใครพูดถึงก็ว่าได้จำไว้ว่าคิคูซุยของจริงของแท้ต้องปลาด๊อยส์เท่านั้นคิคูซุยที่ดีส่วนที่เป็นสีพื้นต้องขาวสะอาดเป็นมันเงาทั้งหัวทั้งตัว ไม่มีสีดำมาเจือปน รวมทั้งครีบด้วย ในเรื่องของแพทเทินส์ไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้เหมือนกับโคอากุมากที่สุดนั่นแหละดีที่สุด แต่ว่าจะหาได้หรือเปล่าอันนี้สิสำคัญ ข้อดีอย่างนึงของคิคูซุยคือลวดลายที่บริเวณหัว เราจะไม่เจาะจงว่าต้องมีเหมือนโคฮากุ ถ้าเป็นโคฮากุเราจะถือเป็นกฏตายตัวเลยว่าต้องมีสีแดงที่หัว ไม่มีไม่ได้ ไม่มีถือว่าเป็นปลาหัวล้านเป็นกาลกิณี ไม่ต้องถึงกับไม่มี แค่มีน้อยก็ติติงแล้วว่าเป็นพวกแปดแสนใกล้ล้านคือหัวเถิก แต่กับคิคูซุยยังไงก็ได้มีก็ดีถือว่าตรงตามตำราโคฮากุจ๋า ถ้าไม่มีเลยก็ดีอีกเช่นกันจะได้โชว์ความมันเงาของสีเงินอย่างเต็มที่ เหมือนกับปลาโอกอนไปเลยข้อดีอีกอย่างคือคิคูซุยมักจะไม่มีปัญหาเรื่องคิว่า,ซาชิ ส่วนใหญ่แล้วคิคูซุยจะมีขอบแพทเทินส์ที่คมทั้งคิว่าและซาชิ อันนี้เป็นลักษณะธรรมดาของปลาด๊อยส์ซึ่งยากที่โคฮากุธรรมดาจะทำได้คงต้องจบกันแค่นี้แล้วมั้งท่านผู้ชม ว่ากันแบบเนื้อๆ เน้นๆ ไม่มีไขมัน ที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่แค่นี้ นอกเหนือที่นอกเหนือไปจากนี้ไม่มีใครพูด ถึงบางชนิดหาดูยากด้วย ถ้าเอามาพูดมาเขียนถึงทั้งหมดคงไม่ไหว ปลาหยุมหยิม ของฮิการิโมโยมีเยอะแยะมากกว่าเขาเพื่อน ไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องไปรู้จักเสียทั้งหมด ฟังแค่ชื่ออย่างเดียวก็เวียนหัวแล้ว ยกตัวอย่างให้ฟัง คินซุย,กินซุย,โชฉิคูบิ,ซากูระโอกอน,โตร่าโอกอน,กินเบคโกะ,กินซากุระโมมิยิโอกอน และอีกบานเบอะ อยากรู้ต้องไปหาตำราญี่ปุ่นมาอ่านเองแล้วกันครับ
Advertisements